“วัดท่าหมูสี” วัดเก่าที่บ้านลาด

“วัดท่าหมูสี” วัดเก่าที่บ้านลาด

 

“...วันที่ 15 กันยายน เวลาสายแล้วได้ลงเรือยนตร์เล็ก 2 ลำ มีแต่ของแห้งไป ขึ้นไปเที่ยวเหนือน้ำ แวะที่ท่าเสนแล้วขึ้นไปจอดทำกับเข้ากลางวันกินที่วัดท่าหมูสี เมื่อก่อน 5 ปีมาแล้วได้เคยขึ้นไปถึงวัดป่าแป้น ครั้นเมื่อกินเข้ากลางวันแล้ว ได้แล่นต่อขึ้นไปจนถึงท่าศาลา ครั้นจะไปต่ออีก เห็นว่าเวลาบ่าย 4 โมงแล้ว จึงได้ล่อง แต่ขาล่องเร็วเหลือเกิน ไม่ทันบ่าย 5 โมง ก็ถึงระยะทางตามลำน้ำมีบ้านเรือนตลอด...วันที่ 16 กันยายน...ให้พัดรองเจ้าอธิการวัดป่าแป้น วัดศาลาหมูสีและวัดเกาะ...วัดศาลาหมูสีพึ่งจะไปครั้งนี้ แต่เจ้าอธิการกลิ่นเป็นผู้ที่ไม่รับเงิน ให้เงินก็บอกคืนเสียเฉยๆ จึงให้พัด ย่าม และจีวรแพร...”

ความบางช่วงบางตอนจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อปีระกา ร.ศ. 128 ตรงกับปีพุทธศักราช 2452

 

ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถมีพาไลรองรับด้วยเสาปูน 4 ต้น ใต้ชายคาพาไลมีซุ้มเสมา

 

สภาพของผนังด้านนอกพระอุโบสถทางทิศเหนือ

 

วัดท่าหมูสี วัดศาลาหมูสี หรือวัดลาดศรัทธารามนั้น ตั้งอยู่บนที่ราบทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรีในพื้นที่ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนในทะเบียนวัดจังหวัดเพชรบุรีระบุว่า วัดลาดศรัทธารามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2245 และได้รับวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2332

 

 

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นกลุ่มเจดีย์รายที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกในเขตกำแพงแก้ว

 

ภายในวัดมีอุโบสถหลังเก่าล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ก่ออิฐฉาบปูน พระอุโบสถมีขนาด 5 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีพาไลรองรับด้วยเสาก่ออิฐฉาบปูน 4 ต้นยื่นออกมาทางด้านนี้ด้วย ประตูทางเข้าโบสถ์ทางทิศตะวันออกมี 1 ช่อง และทิศตะวันตก 2 ช่อง มีหน้าต่างด้านทิศเหนือและใต้ ด้านละ 1 ช่อง ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ลงสีสด หน้าบันทั้ง 2 ด้านเป็นงานปูนปั้นลงสีรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประกอบลายพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยประทับเหนือฐานชุกชีปูนปั้น

 

อุโบสถหลังเก่ามีเจดีย์รายหลายองค์อยู่ภายในกำแพงแก้ว 

 

หน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงครุฑล้อมรอบด้วยลายพรรณพฤกษา ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นลงสี

 

ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ มีประตูทางเข้า 2 ช่อง มีบันไดขั้นเตี้ยๆ ทอดขึ้นไปช่องละ 2 ขั้น

เหนือซุ้มประตูและกรอบประตูตกแต่งด้วยปูนปั้นลงสีทำเป็นรูปนกท่ามกลางพรรณพฤกษา

 

รอบอุโบสถ มีเสมาประจำทิศ เป็นเสมาขนาดเล็ก สลักจากหินทรายแดง วางเหนือแท่นเสมารูปบัวกลุ่ม ยกเว้นใบเสมาทางทิศตะวันออกที่มีซุ้มครอบไว้ ภายในกำแพงแก้วยังพบเจดีย์รายย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน 3 องค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกด้านหน้าพาไลส่วนทางทิศใต้นอกกำแพงแก้วมีเจดีย์รายตั้งเรียงอยู่อีก 6 องค์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดแตกต่างกัน

 

 

เสมาหินสลักจากหินทรายแดง ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ

 

 

กรมศิลปากรกำหนดให้โบราณสถานภายในวัดลาดศรัทธารามมีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ แม้อุโบสถหลังนี้จะมีอายุมากและอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังให้ความสำคัญด้วยเป็นศาสนสถานสำคัญที่ชาวบ้านยังคงผูกพัน

 

 

ช่องหน้าต่างประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นลงสีรูปดอกไม้ ใบไม้ และนก

 

แหล่งอ้างอิง

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ